จัดบ้านปลอดภัย…ช่วยเติมคุณภาพชีวิตชนชรา

ผศ.พ.ท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้ให้คำแนะนำในการจัดบ้านที่ปลอดภัยสำหรับคนสูงอายุไว้อย่างน่าสนใจ และสมควรแก่ครอบครัวที่มีประชากรวัยชราเป็นสมาชิก หรือกำลังจะเริ่มในอนาคตอันใกล้ ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึง พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่หนีและหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ผศ.พ.ท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ ให้ข้อมูลว่า “การจัดบ้านที่เหมาะสมเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานของการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ลูกหลานหรือแม้แต่ผู้ที่กำลังอยู่ในวัย 45 ปี ขึ้นไปควรให้ความตระหนัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่มีลูกหลาน หรืออยู่กับคู่สมรสเพียงลำพัง เพราะบ้านที่ปลอดภัยจะทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข และลดการพึ่งพิงกรณีลูกหลานอยู่ห่างไกลได้ เริ่มจาก “ห้องนอน” สำหรับบ้านไหนที่ลูกหลานมีผู้สูงอายุป่วยโรคอัลไซเมอร์ แนะนำว่า “ควรล็อกประตูตู้ยาสามัญประจำบ้าน” เพราะผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหลงลืมและหยิบยามากินเองได้ นอกจากนี้ “ไม่ควรวางโทรทัศน์ในห้องนอน” เนื่องจากแสงสว่างจากจอทีวีจะทำให้สารเมลาโทนินที่ช่วยทำให้นอนหลับได้ดีนั้นทำงานได้น้อยลง ซึ่งเป็นผลให้ผู้สูงอายุไม่หลับหากในห้องนอนมีแสงสว่าง

อีกทั้งควรเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือ เช่น กรณีที่คุณตาคุณยายนอนไม่หลับนานเกิน 20 นาทีขึ้นไป หมอแนะนำว่าให้ลุกนั่งที่เก้าอี้ข้างเตียง ไม่ควรนอนแช่ จากนั้นให้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน, สวดมนต์ จนกระทั่งเกิดความง่วงแล้วจึงค่อยกลับมานอนหลับอีกครั้ง และเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ให้กับผู้สูงวัย หมอแนะนำว่าให้ทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน โดยการซัก 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และหากซักด้วยเครื่องควรใช้อุณหภูมิน้ำร้อนที่ 55-60 องศา เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันไรฝุ่นที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้

ที่ขาดไม่ได้คือ “โถปัสสาวะ” ที่ควรเตรียมวางไว้ข้างเตียงนอน เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนต่างๆ จะทำงานน้อยลง จะส่งผลให้ผู้สูงวัยตื่นบ่อยและปัสสาวะถี่ขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ดังนั้น 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอนควรงดดื่มน้ำ ขณะที่ “โคมไฟ” ถือเป็นอุปกรณ์ที่ควรวางไว้หัวเตียง เพราะหากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ถ้าผู้สูงอายุจะลุกไปเปิดไฟเพื่อเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนจะเสี่ยงต่อการหกล้มเนื่องจากมองไม่เห็น นอกจากนี้ ลูกหลานควรเลือก “เตียง 4 ขา” เพราะการนอนเตียงที่มีความสูงพอประมาณ (เตียงที่ดีสำหรับผู้สูงอายุควรมีความสูงประมาณหัวเข่า) จะช่วยลดการปวดหัวเข่าได้ดีกว่าการที่ให้ผู้สูงวัยนอนบนเสื่อหรือที่นอนแบบพับ ลืมไม่ได้นั้น เตียงนอนไม่ควรวางชิดผนังด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันผู้สูงอายุนอนตกเตียง แต่ต้องเว้นระยะไว้สำหรับเดินเข้า-ออก หรือสำหรับช่องวางรถเข็นผู้สูงอายุ คิดตามง่ายๆ ว่าให้เตียงมีช่องว่างทั้ง 2 ข้าง กรณีผู้สูงวัยติดเตียงที่ต้องเคลื่อนย้ายไปพบแพทย์ตามนัด

ในส่วนของ “ห้องน้ำ” นอกจากการแบ่งระหว่างส่วนเปียกและส่วนแห้งออกจากกัน เพื่อป้องกันผู้สูงอายุหกล้มแล้ว แนะนำว่าควรเลือกโถส้วมสำหรับขับถ่ายแบบ “ชักโครก” เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุนั่งได้สะดวก และลดปัญหาปวดข้อปวดเข่า ที่สำคัญควรเลี่ยง “ส้วมนั่งยอง” และควรติดตั้งราวจับด้านข้างของชักโครก เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นยืนได้ง่าย ขณะที่ “ก๊อกน้ำ” บริเวณอ่างล้างหน้า ควรเลือกชนิดที่บิดซ้ายขวา เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแขนของคุณตาคุณยายแข็งแรง และไม่ควรสร้างห้องน้ำที่มีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม รวมถึงควรเลือก “ประตูห้องน้ำแบบเลื่อน” เพื่อป้องกันผู้สูงอายุป่วยโรคความจำเสื่อม เปิดประตูไม่ออก หรือล้มเป็นหมดสติ
ถัดมาเป็น “ห้องนั่งเล่น” สำหรับคุณตาคุณยายที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อม ควรเลือกเก้าอี้ในห้องอเนกประสงค์ดังกล่าวแบบมีขา แต่ให้เลี่ยงเก้าอี้ 4 ขาพลาสติก เพราะเสี่ยงต่อการหัก และไม่ควรวางตู้กระจกใสในห้องนั่งเล่น เพื่อป้องกันผู้สูงอายุเดินชน หากจำเป็นต้องวางให้ติดสติกเกอร์สีสันสดใสไว้ เพื่อให้คุณตาคุณยายรู้ว่ามีตู้วางอยู่ ทั้งนี้ หากลูกหลานวางทีวีไว้ในห้องนั่งเล่น ไม่ควรให้ผู้สูงอายุดูทีวีนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ท่านไม่ได้ใช้สมอง ซึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม ดังนั้นควรหากิจกรรมอื่นมาสอดแทรก เช่น ชวนท่านวาดภาพ หรือเล่นเกมบวกเลข เป็นต้น

ปิดท้ายกันที่ “ห้องครัว” ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดให้มี “ที่เก็บมีด” อย่างเป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการเดินสะดุดไปโดนคมมีดที่วางไว้ไม่เป็นระเบียบ ในส่วนของการใช้เตาแก๊สเพื่อปรุงอาหารรับประทานเองนั้น แนะนำให้ติดตั้ง “อุปกรณ์ปิดวาล์วแก๊สอัตโนมัติ” ซึ่งจะมีข้อดีที่สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ก็จะช่วยป้องกันไฟไหม้บ้านได้
เครดิตข้อมูล http://www.thaipost.net/main/detail/6296

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *